ว่ากันด้วยเรื่อง AHA และ BHA แตกต่างกันอย่างไร แล้วคนเป็นสิวควรใช้ตัวไหนดีกว่ากัน?


ความแตกต่างระหว่าง AHA และ BHA ในการรักษาสิว

หากพูดถึงชื่อครีมที่เราคุ้นหูกันมานานแล้ว ชื่อของ AHA และ BHA คงเป็นหนึ่งในนั้น ซึ่งทั้ง AHA และ BHA จัดเป็นสารที่นิยมผสมในเครื่องสำอางหลากหลายชนิดไม่ว่าจะเป็น โฟมล้างหน้า ครีมรักษาสิว มาร์คผลัดเซลผิว หรือแม้กระทั่งครีมลดเลือนริ้วรอยต่างๆก็มักจะมีส่วนผสมของสารทั้ง 2 ตัวนี้อยู่ด้วย



ประเด็นที่ Acnedefend อยากพูดถึงในวันนี้ก็คือ ความแตกต่างระหว่าง AHA และ BHA ว่ามันแตกต่างกันอย่างไร โดยจะขอพูดถึงในมุมมองที่เกี่ยวกับเรื่องสิวๆโดยเฉพาะ เผื่อใครยังแอบสงสัยและข้องใจในสรรพคุณของสารทั้ง 2 ตัว รวมไปถึงเรื่องที่ว่าคนเป็นสิวเหมาะกับการใช้ AHA หรือ BHA มากกว่ากัน เพราะอะไร? วันนี้จะได้รู้กันครับ


ความแตกต่างระหว่าง AHA และ BHA


ที่มาของการสกัดสาร


อย่างแรกที่เราต้องรู้ในเรื่องความแตกต่างระหว่าง AHA และ BHA คือ ที่มาของมัน AHA นั้นเป็นสารที่สกัดมาจากธรรมชาติ ซึ่งสารที่ได้จะออกมาในลักษณะกรดต่างๆ เช่น กรดซิตริก , กรดมัลลิก , กรดแล็กติก , กรดทาร์ทาลิก ซึ่งจะสกัดออกมาให้มีความเข้มข้นที่สูง แต่เวลาที่ผู้ผลิตเอาไปใช้ก็จะมีการกำหนดการใส่เป็น % ที่แตกต่างกัน ซึ่งผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของ AHA ที่วางขายในท้องตลาดส่วนใหญ่จะผสม AHA ที่ความเข้มข้นประมาณ 3-12% ขึ้นไป ซึ่งเป็นความเข้มข้นที่ก่อให้เกิดการระคายเคืองผิวน้อย แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะเหมาะกับสภาพผิวของทุกคน

    ส่วน BHA นั้นเป็นสารที่ถูกสังเคราะห์ขึ้น โดยจะออกมาในรูปแบบกรดเหมือนกัน ซึ่ง BHA ที่เรารู้จักกันดีก็คือสาร Salicylic ซึ่งเป็นกรดที่นิยมผสมลงในโฟมล้างหน้า และผลิตภัณฑ์หรือครีมรักษาสิวต่างๆ ถ้าบ้านใครมีพวกยาแต้มสิว หรือยาละลายสิวอุดตันอยู่ ลองดูส่วนผสมที่ข้างขวดได้ว่ามี Salicylic อยู่หรือไม่ ถ้ามีก็ข้าใจได้เลยว่าเรากำลังใช้ BHA ทาหน้าอยู่นั่นเอง

ความเข้มข้นของสาร


ความเข้มข้นของ AHA และ BHA ที่นิยมผสมลงในเครื่องสำอางต่างๆนั้นจะแตกต่างกัน โดย AHA นิยมผสมลงไปที่ประมาณ 3-12% อย่างที่บอก ส่วน BHA นั้นจะผสมกรด Salicylic ที่ประมาณ 1-2% เท่านั้น ซึ่งจริงๆแล้วผิวเราก็สามารถทนต่อความเข้มข้นที่สูงกว่านี้ได้ แต่ความเข้มข้นที่สูงๆนั้นจะใช้ในการรักษาโรคผิวหนังมากกว่า และต้องถูกใช้โดยเป็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น

การละลายในผิวหน้า


AHA และ BHA นั้นมีความสามารถในการละลายที่ผิวหน้าที่ไม่เหมือนกัน โดยมีตัวทำละลายที่แตกต่างกันออกไป โดย AHA นั้นจะละลายได้ดีในน้ำ ในขณะที่ BHA สามารถละลายได้ดีในไขมัน นั่นแสดงว่า AHA จะสามารถออกฤทธิ์ที่บริเวณผิวหนังชั้นบนหรือชั้นหนังกำพร้าได้ดี แต่ในชั้นที่ลึกลงไปความสามารถก็จะด้อยลงไปมาก ส่วน BHA นั้นละลายในไขมันหรือน้ำมันได้ดี เพราะฉะนั้นมันสามารถชอนไชเข้าไปลึกถึงผิวชั้นล่าง เข้าไปขจัดสิ่งอุดตันที่อยู่ในรูขุมขน ซึ่งมีต่อมไขมันอยู่เป็นแสนๆต่อมได้เป็นอย่างดี นั่นหมายความว่า BHA สามารถทำงานได้ลึกกว่า AHA นั่งเอง

การระคายเคือง


หากพูดถึงเรื่องการระคายเคืองผิวแล้ว AHA จะระคายเคืองผิวมากกว่า BHA โดยจะสังเกตได้ว่าคนส่วนใหญ่จะแพ้ AHA กันมาก ถ้าลองหาข้อมูลจากในเว็บบอร์ดต่างๆ ก็จะเห็นได้บ่อยๆ ยิ่งคนที่ผิวแพ้ง่ายนั้นจะไม่เหมาะกับการใช้ AHA เป็นอย่างยิ่ง ในขณะที่  BHA นั้นเป็นสารที่ก่อให้เกิดการระคายเคืองน้อยกว่ามาก น้อยคนที่จะแพ้ แต่ก็ไม่ใช่ว่าไม่มีนะครับ มีแต่ก็ไม่มากเท่า AHA ด้วยเหตุนี้จึงไม่ต้องแปลกใจที่เราจะเห็น BHA ถูกผสมอยู่ในผลิตภัณฑ์บำรุงผิวและรักษาสิวต่างๆมากมาย

วิธีการทา


AHA มีวิธีการทาที่แตกต่างกับ BHA โดยการทา AHA นั้น เราจะทาทิ้งไว้ประมาณ 5-10 นาที เพื่อให้กรดออกฤทธิ์ จากนั้นก็จะทำการล้างออก ในขณะที่การทา BHA นั้นสามารถทาทิ้งไว้ได้เลยโดยไม่ต้องล้างออก และการทา BHA ที่ดีควรทาทิ้งไว้ประมาณ 15 นาทีเพื่อให้ BHA ได้ทำงานก่อน จากนั้นจึงค่อยทาครีมบำรุงตัวอื่นๆตามลงไป

AHA เหมาะกับใช้ทำอะไร


ความจริงแล้ว AHA นั้นจะเน้นในเรื่องการทำให้ผิวใสกระจ่าง ลดริ้วรอยที่เกิดจากสิว จุดด่างดำ รอยแดงจากสิวได้ดี ช่วยฟื้นฟูและรักษาริ้วรอยที่ไม่หนักหนาเท่าไร คือจะเอาไปใช้จัดการหลุมสิวหรือริ้วรอยของวัยก็คงทำไม่ได้ แต่ถ้าเป็นรอยสิวบางๆหรือต้องการให้หน้าดูสว่างขึ้นพอคุยกันได้ โดยหากต้องการใช้ AHA ให้ได้ผลดีควรใช้ที่ความเข้มข้นตั้งแต่ 9% ขึ้นไป ถ้าน้อยกว่านี้ ก็อาจไม่เห็นผลเท่าที่ควร แต่ % ของ AHA ที่มากขึ้น ก็จะยิ่งก่อให้เกิดการระคายเคืองต่อผิวหน้ามากขึ้นด้วยเช่นกัน เพราะฉะนั้นก่อนตัดสินใจใช้ต้อง test ให้ดีก่อนว่าผิวเรารับได้หรือเปล่านะครับ ส่วน AHA กับการรักษาสิว หรือช่วยลดสิวนั้น จริงๆแล้ว AHA มันไม่ได้ถูกสร้างมาเพื่อสิ่งนี้ และบางครั้ง AHA อาจเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดสิวได้ด้วยเช่นกัน อย่างบางคนที่ผิวแพ้ง่ายอาจแพ้ AHA ได้เหมือนกัน พี่ที่รู้จักกันกับผมเคยโดนมาเหมือนกัน ทำทรีทเม้นท์ AHA ไม่กี่ชั่วโมง สิวเห่อขึ้น หน้าบวม ปากบวมกันเลยทีเดียว แต่ยังไงก็แล้วแต่อาการแพ้เหล่านี้เป็นเรื่องเฉพาะบุคคล อาจไม่ได้เกิดกับทุกคน แต่ผมว่าระวังไว้หน่อยก็ดีนะครับ

BHA เหมาะกับใช้ทำอะไร


BHA เหมาะกับการใช้รักษาสิวมากกว่า AHA ด้วยสารอย่างกรด Salicylic เป็นสารที่มีสรรพคุณช่วยลดการเกิดสิว โดยเฉพาะสิวอุดตันนั้นถือเป็นงานถนัดของ BHA เลยก็ว่าได้ เพราะ BHA นั้นมีฤทธิ์ในการผลัดเซลผิวชั้นบน รวมไปถึงความสามารถในการฆ่าเชื้อแบคทีเรียซึ่งเป็นต้นเหตุของการเกิดสิวได้ดี ผลิตภัณฑ์รักษาสิวต่างๆจึงได้ผสมสาร Salicylic ลงไป เพื่อเพิ่มความสามารถในการรักษาสิวของผลิตภัณฑ์ อย่าง BHA ชื่อดังยี่ห้อพอลล่าช้อย ก็มีส่วนผสมของ Salicylic ที่ 2% เช่นกัน เพราะฉะนั้นใครที่มีปัญหาสิวแนะนำให้ใช้ BHA จะดีกว่า AHA ครับ

สรุปเรื่อง AHA และ BHA 


เรื่องนี้ขอสรุปว่า ใครที่ต้องการให้หน้ากระจ่างขาวใสขึ้น ผิวหน้าแข็งแรง ไม่แพ้ง่าย และที่สำคัญต้องไม่เป็นสิวเยอะ ก็สามารถใช้ AHA ได้ แต่ถ้าใครยังเป็นสิวเยอะอยู่อย่างเพิ่งใช้ เพราะ AHA อาจทำให้สิวเพิ่มขึ้นได้ รอสิวหายก่อนค่อยว่ากัน ส่วน BHA นั้นเหมาะกับคนที่หน้าเป็นสิว โดยเฉพาะกับสิวอุดตัน BHA สามารถช่วยลดการอุดตันของผิวหนังได้ดี ช่วยผลัดเซลผิวที่ตายแล้วและทับถมกันอยู่ให้หลุดลอกออกไปได้ดีขึ้น จัดเป็นอีกหนึ่งครีมรักษาสิวที่น่าสนใจมากๆ

    ไม่ว่าจะเป็น AHA หรือ BHA หากใครได้ใช้ก็อย่าลืมหามอยเจอไรเซอร์กับครีมกันแดดดีๆมาใช้ควบคู่ไปด้วยนะ เพราะครีมทั้ง 2 ตัวมีฤทธิ์ในการผลัดเซลผิวทั้งคู่ ซึ่งจะทำให้ผิวหน้าเราไวต่อแสงมากขึ้น บอกไว้ก่อนเดี๋ยวหน้าจะดำแบบไม่รู้ตัวได้

    เอาล่ะครับวันนี้เขียนมาก็เยอะแล้ว หวังว่าบทความการเปรียบเทียบ AHA และ BHA นี้จะเป็นประโยชน์กับผู้อ่านนะครับ เลือกใช้ครีมที่เหมาะสมกับสภาพผิวหน้าของเรา ถือเป็นแนวทางการรักษาสิวและผิวพรรณที่ดีที่สุด ขอให้ทุกคนสิวหายหน้าใส มีผิวหน้าที่สวยหล่อกันถ้วนหน้านะครับ วันนี้ Acnedefend บล็อกเพื่อคนเป็นสิวทุกๆคนขอลาไปก่อน สวัสดีครับ ^^

Share on Google Plus

About Untitle

บล็อกรักษาสิวอุดตัน สิวอักเสบ สิวผด สิวสเตียรอยด์ สิวเสี้ยน รักษาหลุมสิว รักษาสิวด้วยธรรมชาติ เลเซอร์รักษาสิว แชร์ประสบการณ์รักษาสิวผ่านมุมมองของ Acnedefend บล็อกเพื่อคนเป็นสิวทุกๆคน

1 ความคิดเห็น :

  1. อยากรู้ว่าถ้าทา differin กับ benzac อยู่จะใช้ทาร่วมกับตัวนี้ได้ไหม หรือ ไม่สามารถใช้กับผลิตภัณฑ์ตัวไหนได้บ้างอะคะ

    ตอบลบ